เปิดในหน้าต่างใหม่
Daisy หุ่นยนต์แยกชิ้นส่วน iPhone ของ Apple เป็นหนึ่งในนวัตกรรมจำนวนมากที่ช่วยผลักดันบริษัทให้เดินหน้าสู่เป้าหมายในการใช้เฉพาะวัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียนในผลิตภัณฑ์ ทั้งคุณสมบัติการออกแบบที่ล้ำหน้า วิศวกรรมผลิตภัณฑ์ และความชำนาญด้านซัพพลายเชน ทำให้ Apple ขยับเข้าใกล้เป้าหมายได้มากกว่าที่ผ่านมา
คูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย วันนี้ Apple ประกาศการเร่งเดินหน้าครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มการใช้วัสดุรีไซเคิลให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงเป้าหมายใหม่ปี 2025 ที่จะใช้โคบอลต์รีไซเคิล 100%1 ในแบตเตอรี่ทั้งหมดที่ออกแบบโดย Apple นอกจากนี้ภายในปี 2025 แม่เหล็กในอุปกรณ์ Apple จะใช้แร่โลหะหายากที่ทั้งหมดผ่านการรีไซเคิล และแผงวงจรพิมพ์ทั้งหมดที่ออกแบบโดย Apple จะใช้การบัดกรีด้วยดีบุกรีไซเคิล 100% และการเคลือบทองรีไซเคิล 100%
ในปี 2022 การใช้โลหะรีไซเคิลที่สำคัญของบริษัทได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยตอนนี้อะลูมิเนียมทั้งหมดกว่า 2 ใน 3, แร่โลหะหายากทั้งหมดเกือบ 3 ใน 4 ตลอดจนทังสเตนทั้งหมดมากกว่า 95 ในผลิตภัณฑ์ Apple ได้มากจากวัสดุรีไซเคิล 100% ความคืบหน้าที่รวดเร็วดังกล่าวทำให้ Apple เข้าใกล้เป้าหมายที่วันหนึ่งจะผลิตสินค้าทั้งหมดโดยใช้เพียงวัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียน และเดินหน้าสู่เป้าหมายปี 2030 ของบริษัทในการทำให้ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นมีความเป็นกลางทางคาร์บอน 
"ในแต่ละวัน Apple ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ในการทำให้เทคโนโลยีช่วยเติมเต็มชีวิตของผู้คนไปพร้อมกับการปกป้องโลกที่เราอยู่ร่วมกัน" Tim Cook ซีอีโอของ Apple กล่าว "ภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมของเราผสานรวมอยู่ในทุกสิ่งที่เราทำและอยู่ในตัวตนของพวกเรา ตั้งแต่เรื่องวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ไปจนถึงพลังงานสะอาดที่ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนั้นเราจึงยังคงเดินหน้าบนความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ต้องดีพร้อมทั้งกับผู้ใช้ของเราและสิ่งแวดล้อม"
"ปณิธานที่วันหนึ่งเราจะใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียน 100% ในผลิตภัณฑ์ของเราสอดประสานไปกับเป้าหมาย Apple ปี 2030 ที่ต้องการทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030" Lisa Jackson รองประธานฝ่ายโครงการด้านสิ่งแวดล้อม นโยบาย และกิจกรรมทางสังคม กล่าว "เรากำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายทั้งสองโดยไม่รอช้าและผลักดันนวัตกรรมในกระบวนการทั่วทั้งอุตสาหกรรมทั้งหมดของเรา"

วาดแผนพัฒนาการสู่ปี 2025

Apple ได้เพิ่มปริมาณการใช้โคบอลต์รีไซเคิลที่ได้รับการรับรอง 100% มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จนทำให้สามารถนำไปใช้ในแบตเตอรี่ทั้งหมดที่ออกแบบโดย Apple ภายในปี 2025 อีกทั้งโคบอลต์ทั้งหมดราว 1 ใน 4 ในผลิตภัณฑ์ Apple ในปี 2022 มาจากวัสดุรีไซเคิล เพิ่มขึ้นจาก 13% ในปีก่อนหน้า โคบอลต์เป็นวัสดุสำคัญในแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ใช้ทั่วไปส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ Apple ด้วยเช่นกัน เพราะให้ความหนาแน่นของพลังงานสูงในขณะที่ยังคงได้มาตรฐานอันเข้มงวดของ Apple ในด้านอายุการใช้งานที่ยาวนานและความปลอดภัย ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่การใช้โคบอลต์ของบริษัทจะอยู่ในรูปของแบตเตอรี่ที่ออกแบบโดย Apple ซึ่งพบได้ใน iPhone, iPad, Apple Watch, MacBook และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย
ชิ้นส่วนของ iPhone รวมถึงแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ออกแบบโดย Apple ผ่านการรีไซเคิลโดย Daisy ซึ่งเป็นหุ่นยนต์แยกชิ้นส่วนรุ่นบุกเบิกของ Apple
ภายในปี 2025 แบตเตอรี่ทั้งหมดที่ออกแบบโดย Apple จะผลิตด้วยโคบอลต์รีไซเคิล 100% และแม่เหล็กในอุปกรณ์ Apple ก็จะใช้แร่โลหะหายากรีไซเคิล 100% ด้วยเช่นกัน 
นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาบริษัทยังได้ใช้แร่โลหะหายากรีไซเคิลที่ได้รับการรับรอง 100% เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 45% ในปี 2021 กลายเป็น 73% ในปี 2022 นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มใช้แร่โลหะหายากรีไซเคิลใน Taptic Engine ของ iPhone 11 หลังจากนั้น Apple ก็ได้ต่อยอดการใช้วัสดุดังกล่าวไปยังอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งรวมถึงแม่เหล็กทั้งหมดที่พบในผลิตภัณฑ์รุ่นล่าสุดไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad, Apple Watch, MacBook และ Mac ทั้งนี้แร่โลหะหายากส่วนใหญ่ที่ Apple ใช้ไปจะอยู่ในแม่เหล็ก ดังนั้นเป้าหมายใหม่ปี 2025 จึงหมายถึงการที่แร่โลหะหายากเกือบทั้งหมดในผลิตภัณฑ์ Apple จะผ่านการรีไซเคิล 100% ในไม่ช้า
ภายใต้กำหนดการใหม่ที่เร็วขึ้นดังกล่าวยังทำให้แผงวงจรพิมพ์ทั้งหมดที่ออกแบบโดย Apple จะใช้การเคลือบทองรีไซเคิลที่ได้รับการรับรอง 100% ภายในปี 2025 ด้วย ซึ่งรวมถึงแผงวงจรทั้งแบบแข็งอย่างแผงวงจรหลักและแผงวงจรแบบยืดหยุ่นอย่างที่ใช้ในการเชื่อมกับกล้องหรือปุ่มต่างๆ ใน iPhone นับตั้งแต่มีการบุกเบิกซัพพลายเชนรีไซเคิลพิเศษเฉพาะสำหรับทองที่ใช้ในการเคลือบแผงวงจรหลักสำหรับ iPhone 13 หลังจากนั้น Apple ก็ได้ต่อยอดการใช้วัสดุในส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงสายของกล้องทั้งหมดในผลิตภัณฑ์ตระกูล iPhone 14 ตลอดจนแผงวงจรพิมพ์ของ iPad, Apple Watch, AirPods Pro, MacBook Pro, Mac mini และ HomePod นอกจากนี้ Apple ยังได้เดินหน้าส่งเสริมการนำทองรีไซเคิลไปใช้ในวงกว้างสำหรับส่วนประกอบแบบไม่เฉพาะเจาะจงทั่วทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย
ภายในปี 2025 บริษัทจะใช้โลหะบัดกรีที่เป็นดีบุกรีไซเคิลที่ได้รับการรับรอง 100% บนแผงวงจรพิมพ์ทั้งแบบแข็งและแบบยืดหยุ่นทั้งหมดที่ออกแบบโดย Apple ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Apple ได้ขยายการใช้ดีบุกรีไซเคิลไปยังโลหะบัดกรีของแผงวงจรพิมพ์แบบยืดหยุ่นจำนวนมากในผลิตภัณฑ์ Apple หลายชนิด โดยดีบุก 38% ของทั้งหมดที่ใช้เมื่อปีที่แล้วมาจากแหล่งรีไซเคิล และบริษัทยังมีแผนที่ใช้ดีบุกรีไซเคิลในส่วนประกอบอื่นๆ เพิ่มเติมยิ่งขึ้นด้วย โดยกำลังเชิญชวนให้ซัพพลายเออร์จำนวนมากให้ความร่วมมือกับความพยายามครั้งนี้
นวัตกรรมอันสุดล้ำยังได้ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าสู่อีกหนึ่งคำมั่นของ Apple ในปี 2025 นั่นก็คือ การเลิกใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ของบริษัท การพัฒนาวัสดุทางเลือกที่ทำจากเยื่อไม้เพื่อใช้กับส่วนประกอบบรรจุภัณฑ์ เช่น ฟิล์มติดหน้าจอ วัสดุห่อหุ้ม และโฟมกันกระแทก ทำให้เป้าหมายอันสูงสุดของ Apple ยังคงเดินหน้าได้ตามแผน เพื่อจัดการกับพลาสติกที่คงเหลืออีก 4% ในฟุตพริ้นต์ของบรรจุภัณฑ์ ดังนั้น Apple จึงเดินหน้าคิดค้นวิธีทดแทนการใช้ฉลาก การเคลือบ และการใช้พลาสติกในจุดเล็กจุดน้อยอื่นๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมา Apple ได้พัฒนาเครื่องพิมพ์พิเศษที่สามารถสั่งพิมพ์แบบดิจิทัลลงบนกล่อง iPhone 14 และ iPhone 14 Pro ได้โดยตรง จึงช่วยลดความจำเป็นในการใช้ฉลากส่วนใหญ่ อีกทั้งยังมีการใช้สารเคลือบทับหมึกพิมพ์ชนิดใหม่ในบรรจุภัณฑ์ของ iPad Air, iPad Pro และ Apple Watch Series 8 โดยจะทำหน้าที่แทนการเคลือบพลาสติกด้วยโพลีโพรพิลีนที่พบในส่วนประกอบของกล่องและบรรจุภัณฑ์ นวัตกรรมดังกล่าวช่วยลดการใช้พลาสติกได้กว่า 1,100 เมตริกตัน และลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 2,400 เมตริกตัน

พัฒนาการในการจัดหาวัสดุหลักและวัสดุรีไซเคิลอย่างรับผิดชอบ

ขณะที่ Apple ลดการพึ่งพาแร่ธาตุที่ขุดใหม่ บริษัทก็ยังเดินหน้าให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่ชุมชนที่ต้องเลี้ยงชีพด้วยการทำเหมือง โดยได้จับมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น มูลนิธิ Fund for Global Human Rights เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่นักต่อสู้ด่านหน้าด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงในบริเวณกลุ่มทะเลสาบใหญ่แอฟริกา ตลอดจนให้การสนับสนุนอาชีวศึกษาเพื่อให้สมาชิกของชุมชนในพื้นที่ถอยห่างจากการทำเหมืองและพัฒนาทักษะตลอดจนก้าวเดินตามหาโอกาสใหม่ๆ ได้ในที่สุด
Apple มีการจัดหาแร่ธาตุหลักอย่างรับผิดชอบและผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสูงสุดทั่วทั้งซัพพลายเชน โดย Apple เป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายแรกที่เผยแพร่รายชื่อโรงสกัดแร่โคบอลต์และลิเทียมในซัพพลายเชนแบตเตอรี่ โดยเริ่มจากโคบอลต์ในปี 2016 และลิเทียมในปี 2020 ขณะที่ในปี 2017 ทางบริษัทก็ได้จัดทำข้อมูลซัพพลายเชนสำหรับแร่โลหะหายาก โดยนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา โรงหลอมแร่และโรงสกัดแร่ดีบุก ทังสเตน แทนทาลัม และทองทุกรายได้เข้าร่วมการตรวจสอบโดยหน่วยงานอิสระ
ในช่วงที่เดินหน้าเปลี่ยนมาใช้แร่ธาตุรีไซเคิลและแร่ธาตุหมุนเวียน Apple ได้เลือกที่จะให้ความสำคัญกับวัสดุ 14 ชนิด โดยดูจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และซัพพลาย ซึ่งรวมกันคิดเป็นเกือบ 90% ของวัสดุที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ Apple อันได้แก่ อะลูมิเนียม, โคบอลต์, ทองแดง, กระจก, ทอง, ลิเธียม, กระดาษ, พลาสติก, แร่โลหะหายาก, เหล็กกล้า, แทนทาลัม, ดีบุก, ทังสเตน และสังกะสี
ในปี 2022 วัสดุทั้งหมดราว 20% ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ Apple มาจากแหล่งรีไซเคิลหรือแหล่งหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงการใช้ฟอยล์ทองแดงรีไซเคิลครั้งแรกในแผงวงจรหลักของ iPad (รุ่นที่ 10), การใช้เหล็กกล้ารีไซเคิลที่ได้รับการรับรองในถาดแบตเตอรี่ของ MacBook Air พร้อมชิป M2, การใช้ทังสเตนรีไซเคิล 100% ในผลิตภัณฑ์ตระกูล Apple Watch ล่าสุด และตัวเครื่องอะลูมิเนียมของผลิตภัณฑ์ Apple จำนวนมากทำจากโลหะผสมที่เป็นอะลูมิเนียมรีไซเคิล 100% ที่ออกแบบโดย Apple 

การรังสรรค์สู่อนาคตแห่งการรีไซเคิล

ผลงานของ Apple ในการคิดค้นงานวิจัยและพัฒนาใหม่ๆ เพื่อการแยกชิ้นส่วนและการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ที่สิ้นสุดอายุการใช้งานได้ช่วยเกิดความก้าวหน้าในเรื่องดังกล่าว วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญของ Apple ได้ขยายความร่วมมือซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยชั้นนำและห้องแล็บสำหรับการคัดแยกวัสดุในออสติน รัฐเท็กซัส เพื่อพัฒนาวิธีการสุดล้ำในการมอบชีวิตใหม่แก่วัสดุต่างๆ ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ Apple และช่วยให้ตัดสินใจด้านการออกแบบภายใต้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อสนับสนุนการแยกชิ้นส่วนและการรีไซเคิล
Daisy หุ่นยนต์แยกชิ้นส่วน iPhone ของบริษัททำหน้าที่แยกแบตเตอรี่ออกจากชิ้นส่วนอื่นๆ เพื่อให้บริษัทรีไซเคิลเฉพาะทางสามารถรีไซเคิลโคบอลต์และวัสดุอื่นๆ ซึ่งรวมถึงลิเธียม ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา Apple ประเมินว่ามีโคอลต์จำนวนมากกว่า 11,000 กิโลกรัม ที่ Daisy ได้รีไซเคิลจากแบตเตอรี่และนำกลับเข้าสู่ตลาดทุติยภูมิ นอกจากนี้ Daisy ยังช่วยรีไซเคิลแร่โลหะหายากที่ส่วนใหญ่สูญเสียไปจากกระบวนการรีไซเคิลสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบเก่า 
วิดีโอ AR ฉายผ่านโปรเจ็กต์เตอร์เหนือศีรษะที่แสดงให้พาร์ทเนอร์ด้านการรีไซเคิลทราบวิธีถอดแบตเตอรี่จาก MacBook
ระบบเทคโนโลยีความจริงเสริมผ่านโปรเจ็กเตอร์เหนือศีรษะช่วยให้พาร์ทเนอร์ด้านการรีไซเคิลของ Apple สามารถแยกชิ้นส่วน MacBook และ iPad รุ่นต่างๆ โดยการฉายภาพวิดีโอจำลองไว้บนพื้นที่ทำงาน
Daisy เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมด้านการรีไซเคิลและการแยกชิ้นส่วนของ Apple ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมในวงกว้างได้อย่างไร นอกจากนี้บริษัทยังมีหุ่นยนต์อย่าง Dave ซึ่งปัจจุบันใช้กับพาร์ทเนอร์ด้านการรีไซเคิลในจีน โดยช่วยเร่งความเร็วในการรีไซเคิลแร่โลหะหายากด้วยการแยกชิ้นส่วน Taptic Engine
Apple ยังได้เริ่มนำระบบเทคโนโลยีความจริงเสริม (AR) ผ่านโปรเจ็กเตอร์เหนือศีรษะไปใช้กับพาร์ทเนอร์ด้านการรีไซเคิลอีกด้วย ระบบดังกล่าวจะช่วยแนะนำการแยกชิ้นส่วนอุปกรณ์ซึ่งรวมถึง MacBook และ iPad โดยจะฉายภาพวิดีโอไปยังพื้นที่ทำงานโดยตรง อีกทั้งยังได้เผยแพร่คู่มือผู้ให้บริการรีไซเคิลของ Apple สำหรับผู้ให้บริการรีไซเคิลระดับโลกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลวัสดุต่างๆ ให้สูงที่สุดโดยที่ยังคงปกป้องทั้งในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์ และเนื่องจากวัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียนมีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของแต่ละผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลจึงทำให้ Apple เข้าใกล้เป้าหมายที่ท้าทายในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนทั่วทั้งซัพพลายเชนของบริษัทและวงจรชีวิตของทุกผลิตภัณฑ์ภายในปี 2030
แชร์บทความ

Media

  • เนื้อหาของบทความนี้

  • รูปภาพในบทความนี้

  1. การอ้างอิงปริมาณโคบอลต์ทั้งหมดเป็นไปตามระบบสมดุลมวลสาร

สื่อมวลชน

ช่องทางให้ความช่วยเหลือของ Apple สำหรับสื่อมวลชน

media.thailand@apple.com