โรงเรียนมัธยมศึกษา Rotorua Boys
ประเทศนิวซีแลนด์

ปรับการเรียนรู้ให้

สอดรับกับวัฒนธรรม
ผ่านการขับเคลื่อนด้วย Apple

1:1 คือจำนวน iPad ต่อนักเรียน
2:1 คือจำนวน Mac และ iPad ต่อครูผู้สอน

โรงเรียนมัธยมศึกษา Rotorua Boys ตั้งอยู่ในเขต Bay of Plenty บนเกาะเหนือของประเทศนิวซีแลนด์ โรงเรียนแห่งนี้มีสัดส่วนนักเรียนชาวเมารีมากที่สุดในบรรดาโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไปในนิวซีแลนด์ โดยคิดเป็น 75% ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งหมดราว 1,250 คน เนื่องจากที่ตั้งของโรงเรียนซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ ประกอบกับความเหลื่อมล้ำที่เยาวชนชาวเมารีหลายคนต้องเผชิญ ทำให้โรงเรียนมีวิสัยทัศน์ที่จะช่วยเหลือเด็กชายทุกคนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถมีส่วนร่วมและยกระดับชุมชนของตนเองได้ ดังคำขวัญของโรงเรียนที่ว่า "Whāia te iti kahurangi" หรือ "ฝ่าฟันอุปสรรค ไปสู่ดวงดาว"

เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์นี้ ผู้นำโรงเรียนรวมถึงผู้อำนวยการที่เพิ่งเกษียณไปอย่าง Chris Grinter จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนและเคารพในวัฒนธรรมเมารี โดยหันมาใช้เทคโนโลยีของ Apple เริ่มจากโครงการ iPad สำหรับนักเรียนแบบ 1:1 เพราะ iPad มีฟังก์ชันอันทรงพลังและรองรับการทำงานได้หลายรูปแบบ จึงช่วยให้นักเรียนแต่ละคนถ่ายทอดตัวตนได้มากกว่าการเขียนถ้อยคำ และยังสนับสนุนประเพณีการบอกเล่าเรื่องราวที่เข้มข้นของวัฒนธรรมเมารีได้อย่างดี

"นักเรียนชายของเรามีความกระตือรือร้นมาก การใช้ iPad ช่วยให้นักเรียนนำเรื่องราว ความคิด และ Mahi (งาน) ของพวกเขามาถ่ายทอดด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วทำได้มากกว่าที่การเขียนเรียงความจะถ่ายทอดออกมาได้เสียอีก"
Rie Morris รักษาการผู้อำนวยการ โรงเรียนมัธยมศึกษา Rotorua Boys

ปัจจุบัน ครูผู้สอนทุกคนที่ Rotorua Boys ได้รับ MacBook ที่กระทรวงศึกษาธิการมอบให้เพื่อเป็นการสนับสนุนทางการเงิน รวมถึงมี iPad และ Apple Pencil ที่โรงเรียนจัดหาให้ด้วย ผู้บริหารของโรงเรียนพบว่าอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยให้ครูผู้สอนสามารถสร้างสรรค์บทเรียนที่น่าสนใจและเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ได้ ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติของวัฒนธรรมเมารีที่เน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน นักการศึกษาทุกคนผ่านโปรแกรม Apple Teacher ผ่านการเรียนรู้ระดับมืออาชีพ และหลายคนยังได้รับการรับรองในฐานะ Apple Learning Coach อีกด้วย โดยครูผู้สอนทุกคนจะได้รับการสนับสนุนด้านความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการออกแบบบทเรียนที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์นักเรียนที่มีความหลากหลาย

ตัวอย่างเช่น Melissa Magatogia หัวหน้าฝ่ายการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและศิลปะของ Rotorua และทีมงานกำลังสร้างแหล่งข้อมูลดิจิทัลที่เรียกว่า Raukura Rauemi ภายใต้ความร่วมมือกับสมาชิกชนเผ่าเมารีในท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนครูผู้สอนให้มีสื่อการสอนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมซึ่งนักเรียนเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งสื่อการสอนแต่ละชิ้นนั้นจัดทำขึ้นตามตำนานท้องถิ่น โดย Magatogia ใช้ Sketchbook บน iPad พร้อม Apple Pencil ในการวาดภาพประกอบ จากนั้นจึงทำให้ภาพเคลื่อนไหวด้วย Keynote บน Mac และร่วมมือกับครูผู้สอนคนอื่นๆ ในการจัดทำหลักสูตรสำหรับแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สำคัญ ตั้งแต่เริ่มนำไปใช้ ครูผู้สอนหลายคนต่างก็สังเกตเห็นว่านักเรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และทำให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับวัฒนธรรมเมารีในห้องเรียนที่เข้มข้นยิ่งขึ้นด้วย

"การเชื่อมโยงนักเรียนกับ Whānau (ครอบครัว) ชุมชน และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของเราผ่านการเรียนรู้นั้น เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสื่อการสอนที่คำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเรา" Magatogia กล่าว

Josh Lewis ครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ชั้น ม. 6 ใช้ iPad สร้างบทเรียนที่โต้ตอบได้ ซึ่งช่วยให้นักเรียนเข้าใจหัวข้อที่ซับซ้อนได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น เช่น เรื่องชุมชนที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานและข้อพิพาทเรื่องที่ดินในท้องถิ่น หรืออย่างในบทเรียนหนึ่ง นักเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปะทุของภูเขาไฟทาราวีราอย่าง The Buried Village of Te Wairoa โดยให้นักเรียนถ่ายภาพหน้าจอใน Apple Maps รวมถึงแผนที่ชนเผ่าท้องถิ่น แล้วซ้อนภาพเข้าด้วยกันใน Keynote เพื่อดูว่าจุดใดที่มีพรมแดนทับซ้อนกันและระบุสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณดังกล่าว จากนั้น Lewis จะพานักเรียนไปทัศนศึกษาในพื้นที่จริง ซึ่งนักเรียนจะได้ใช้ iPad ในการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ และอัดเสียงบันทึกของตัวเอง โดยมี Whaea Tiaho Fairhall ซึ่งเป็นทั้งผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายการเรียนรู้ ครูผู้สอนชาวเมารี และเป็นทายาทสายตรงของชนเผ่าที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว มาบอกเล่าถึงการใช้ชีวิตก่อนและหลังเหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุอีกด้วย หลังจากการมอบเครื่องมือในการรวบรวมหลักฐานและให้พวกเขานำเสนอมุมมองที่ค้นพบด้วยตนเองนั้น Lewis พบว่านักเรียนเกิดความเข้าใจในความสำคัญของเขตแดนที่ดินมากขึ้น ตลอดจนเข้าใจว่าประวัติศาสตร์ส่งผลต่อวัฒนธรรมและอนาคตของตนเองอย่างไร

โรงเรียน Rotorua Boys ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนผ่านหลักสูตรที่คำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม และโครงการ iPad สำหรับนักเรียนแบบ 1:1 ซึ่งทำให้นักเรียนแสดงออกและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้การผสมผสานการใช้อุปกรณ์ Apple เข้ากับการเรียนรู้ระดับมืออาชีพ ก็ช่วยให้ครูผู้สอนสร้างสรรค์บทเรียนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของนักเรียนได้อย่างมั่นใจ ซึ่งก็ได้ผลจริงๆ อย่างที่เห็น ตั้งแต่เริ่มเดินหน้าโครงการการเรียนรู้ใหม่นี้ ผู้บริหารโรงเรียนได้เห็นพัฒนาการทั้งในด้านการอ่านและการเขียน การคำนวณ และยังได้ผลสัมฤทธิ์สำหรับ NCEA ระดับ 1-3 เฉลี่ยถึง 92% ซึ่งช่วยเตรียมนักเรียนให้พร้อมประสบความสำเร็จทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนต่อไป

"ที่โรงเรียนมัธยมศึกษา Rotorua Boys เราภาคภูมิใจที่นักเรียนทำคะแนนได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศถึง 20% ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักเรียนของเราทำตามคำขวัญของโรงเรียนได้อย่างยอดเยี่ยม"
Rie Morris รักษาการผู้อำนวยการ โรงเรียนมัธยมศึกษา Rotorua Boys

เรื่องราวทั้งหมด

ช่วยนำนักเรียน
สู่ความสำเร็จในทุกระดับ

เลือกดูเรื่องราวความสำเร็จทั้งหมด

Apple กับการศึกษาระดับ K-12

ผลิตภัณฑ์และแหล่งข้อมูลของ Apple ออกแบบมาเพื่อทำให้การเรียนรู้

เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล มีความสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจ

ดูเพิ่มเติม